“พุทธโฆสฯ นำร่อง สอบภาษาอังกฤษนิสิตปริญญาตรี”
วันนี้ (๒๐ ก.พ.๖๓) ที่วิทยาเขตบาฬึศึกษาพุทธโฆส นครปฐม พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน, ผศ.ดร. มอบหมายให้ พระวิศิษฐกุล สิริปญฺโญ ผู้อำนวยการส่วนวิชาการ สถาบันภาษา หารือร่วมกับวิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส เรื่องแนวทางและวิธีการประเมินทักษะภาษาอังกฤษของนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมี พระมหาโกมล กมโล,ผศ. ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ พร้อมด้วยคณาจารย์เข้าร่วม
การหารือในวันนี้ ได้ข้อสรุปแนวทางการดำเนินการตามนโยบายของมหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือของวิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม และสถาบันภาษา ให้มีการจัดอบรมและจัดสอบภาษาอังกฤษ MCU-GET สำหรับนิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ ๓ ชั้นปีที่ ๔ จำนวน ๑๐๐ รูป/คน มีกำหนดการอบรม ระหว่างวันที่ ๔-๖ มีนาคม ๒๕๖๓ และจัดทดสอบความสามารถภาษาอังกฤษ MCU-GET ในวันจันทร์ที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓ กระบวนการจัดสอบเป็นไปตามมาตรฐานของสถาบันภาษา
พระเทพสุวรรณเมธี,รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร และรักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการ วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส กล่าวว่า “การดำเนินการทดสอบความสามารถภาษาอังกฤษของนิสิตปริญญาตรี ต้องทำให้เป็นมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ ควรให้สถาบันภาษา เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านนี้ หากวิทยาเขตดำเนินการเอง มาตรฐานก็พอได้ แต่ขาดความน่าเชื่อถือ จะเข้าตำราชงเอง กินเอง อร่อยเอง เพราะฉะนั้น วิทยาเขตต้องร่วมมือกับสถาบันภาษา ทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย”
พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน, ผศ.ดร.ผู้อำนวยการสถาบันภาษา ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการประเมินทักษะภาษาอังกฤษของนิสิตปริญญาตรี ได้กล่าวว่า “เราให้สิทธิแก่ทุกส่วนงานดำเนินการทดสอบภาษาอังกฤษของนิสิตปริญญาตรี ตามประกาศของมหาวิทยาลัย สถาบันภาษา จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทำมหาวิทยาลัยกำหนดให้ ทั้งนี้ หากส่วนงานใดขอความร่วมมือมายังสถาบันภาษา เราก็ยินดีที่จะเข้าไปสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเป็นพันธะกิจของสถาบันภาษาอยู่แล้ว”
ว่าด้วยการประเมินทักษะภาษาอังกฤษของนิสิตระดับปริญญาตรี เป็นตามประกาศคณะกรรมการอุดมศึกษา เรื่อง นโยบายการยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๕๙ กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษากำหนดเป้าหมายและนโยบายด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แต่งตั้งคณะกรรมการร่างประกาศฯ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานภาษาอังกฤษของนิสิตปริญญาตรี ได้ผ่านการพิจารณาจากสภาวิชาการ เมื่อวันที่ ๖ ก.พ.๖๓ ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างเข้าประชุมสภามหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒๖ ก.พ.๖๓ และจะมีผลบังคับใช้กับทุกส่วนงานจัดการศึกษา โดยที่นิสิตระดับปริญญาตรีต้องมีผลสอบความรู้ภาษาอักฤษเป็นคุณสมบัติหนึ่งของผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาและเข้ารับปริญญาบัตร